วันอาทิตย์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2557

     อินโด ใช้มาตรการกีดกัน สินค้าไทย




      ประเทศอินโดนีเซีย กีดกันสินค้าจากไทยหลายประเภท อาทิ ผัก ผลไม้ พืชสวน อาหารสำเร็จรูป ปละผลิตภัณฑ์ รวมถึง ข้าวหอมมะลิ (Special Rice) โดยหากจะนำเข้าต้องผ่านข้อกำหนดในเรื่องเงื่อนไขการใช้ภาษี คือ
1) มีวัตถุประสงค์พิเศษในการนำเข้า เช่น นำเข้าเพื่อสุขภาพ
2) การบริโภคพิเศษเฉพาะกลุ่ม
3) ผู้นำเข้าจะต้องจดทะเบียนเป็นผู้นำเข้าพร้อมขอการรับรองจากกระทรวงเกษตรของอินโดนีเซียก่อน
4) ต้องขออนุญาตจากกระทรวงการค้าของอินโดนีเซียในแต่ละ shipment
     ทั้งนี้ การขอรับคำร้องการนำเข้าใช้เวลาในการยื่นนานมาก ตั้งแต่ 6 เดือน - 1 ปี และตั้งแต่ปี 2554 กระทรวงเกษตรของอินโดนีเซียกำหนดเงื่อนไขการนำเข้าให้ผู้นำเข้า สามารถจำหน่ายข้าวหอมเฉพาะในภัตตาคาร และโรงแรมเท่านั้น และมักจะจัดสรรนำเข้าน้อยกว่าปริมาณนำเข้าจริง 30-50% ตั้งแต่ปี 2552 ผู้นำเข้าไม่เคยได้รับ คำรับรองในการนำเข้าข้าวหอมมะลิจากไทยเลย
   
      ขณะที่สินค้าสัตว์น้ำสดและแปรรูป ผู้นำเข้าสัตว์น้ำจะต้องเป็นผู้นำเข้า และต้องได้รับการรับรองนำเข้าจากกระทรวงประมง และในทางปฏิบัติหากสัตว์น้ำนั้น มีอยู่ในน่านน้ำ อินโดนีเซีย ก็จะไม่สามารถ พิจารณาออกคำรับรองในการนำเข้า ที่ผ่านมาเคยกักกันและยึดสินค้าสัตว์น้ำสดและแปรรูปจากไทย ที่ท่าเรือ Tanjung Priok เมื่อเดือน มี.ค. 2554
     สินค้าผัก ผลไม้ มาตรการกำหนดให้ ผักและผลไม้จำนวน 100 รายการ ต้องควบคุมความปลอดภัยของอาหารสด ที่มาจากพืช ต้องปลอดสารเคมี การปนเปื้อนทางชีววิทยาและการปนเปื้อนจากสารเคมีต้องห้าม ปัจจุบัน ผักและผลไม้ของไทย ต้องถูกตรวจสารเคมีตกค้าง 100% เนื่องจากไทยยังไม่ได้รับการรับรองความปลอดภัยของสินค้าเกษตรจากอินโดนีเซีย
     ด้านแหล่งข่าวจากสำนักบริหารกิจการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ปัจจุบันอินโดนีเซียถือเป็นประเทศที่มีมาตรการ หรือออกมาตรการเอ็นทีบีมากที่สุด ทั้งมาตรการการออกใบอนุญาตการนำเข้า (Import Licensing)เช่น ในสินค้าข้าวหอมมะลิ ต้องมีวัตถุประสงค์พิเศษในการนำเข้า เช่น นำเข้าเพื่อสุขภาพ การบริโภคพิเศษเฉพาะกลุ่ม ต้องจดทะเบียนเป็นผู้นำเข้า และต้องได้รับการรับรองจากกระทรวงเกษตรของอินโดนีเซียก่อน จากนั้นต้องขออนุญาตกระทรวงการค้าในการนำเข้าแต่ละชิปเมนต์  มาตรการควบคุมการนำเข้า (Import control)อุปกรณ์การเกษตรประเภทจอบ เสียม และพลั่วเป็นสินค้าควบคุม เนื่องจาก ต้องปกป้องสินค้าที่ผลิตในประเทศ โดยได้แต่งตั้งบริษัทผู้รับนำเข้าเพียง 3 ราย (รัฐวิสาหกิจอินโดฯ) และผู้นำเข้าต้องขออนุญาตนำเข้าจากกระทรวงการค้าอินโดฯ
    นอกจากนี้ยังมีมาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS)เช่น ผักผลไม้ 47 รายการ ต้องนำเข้าจากแหล่งที่ปลอดจากการแพร่เชื้อแมลงวันผลไม้ นำเข้าได้ 3 ท่าเรือ 1 สนามบิน (ท่าเรือเมืองสุราบายา ท่าเรือเมืองเมดาน ท่าเรือเมืองมากัสซาร์ และสนามบินซูการ์โน-ฮัตตา) เป็นต้น
     และสามารถนำเข้าประเทศอินโดนีเซียได้เพียง 4 จุด คือ  ท่าเรือ 3 แห่ง และสนามบิน อีก1 แห่ง จากเดิมให้ 8 แห่ง ส่งผลให้ผักและผลไม้ เช่น ชมพู่ ฝรั่ง ส้ม ลิ้นจี่ มะม่วง มังคุด ขนุน มะละกอ กล้วย เงาะ พริก หอมแดง หอมหัวใหญ่ และกระเทียม ไม่สามารถนำเข้าท่าเรือจาร์กาตา ซึ่งเป็นท่าเรือหลัก ได้อีกต่อไป ทำให้ต้นทุนค่าส่งสินค้าจากไทยสูงขึ้นเป็นอย่างมาก และสินค้าได้รับความเสียหาย
     ทีมงานรายการจอโลกเศรษฐกิจ ของครอบครัวข่าว 3 เดินทางไปทำข่าวที่ประเทศอินโดนีเซีย ทีมงานเล่าให้ฟังว่า อินโดนีเซียใช้มาตรการกีดกันการค้ากับข้าวไทยอย่าเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เช่น การรณรงค์ให้คนอินโดนีเซียไม่กินข้าวทุกวันอังคาร เพราะเหตุว่า รัฐบาลอิเหนาแก้ปัญหาไม่ตกกับการขาดดุลการค้าข้าวมานานแสนนาน
     นอกจากนี้ ข้าวหอมมะลิ จากไทยนั้น ตามห้างสรรพสินค้า หรือแม้แต่โมเดิร์นเทรด ก็ไม่มีวางขาย เพราะรัฐบาลอินโดนีเซียสั่งห้ามวางขายข้าวหอมจากเมืองไทยผ่านช่องทางดังกล่าว เท่าที่รู้มาเพิ่มเติมคือ ไม่เพียงแค่ข้าวไทยเท่านั้น ผลไม้จากเมืองไทยคุณภาพและราคาสูง เช่น ลำไย ทุเรียน ก็ถูกหางเลขอีกด้วย
     สำหรับประเทศไทยนั้น ผู้ที่มีอำนาจเกี่ยวข้องกับการค้า การขาย กับชาวต่างชาติ ก็มัวแต่เล่นเกมทางการเมืองอยู่ ไม่มีเวลามาคิด มาอ่าน หาทางแก้ไขปัญหา ปล่อยให้นักธุรกิจไทย ต้องรับกรรม ต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว ต่อไปจนกว่าจะหมดแรงตายไปเอง

0 ความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น